จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2564 ในแต่ละวันพบผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือ “ส่งต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยโควิด-19” Chula High Flow Nasal Cannula โดยความร่วมมือระหว่างสถานเสาวภา สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ และ ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คิดค้นและผลิตเครื่องบำบัดโรค ระบบทางเดินหายใจอัตราการไหลสูง หรือ Chula High Flow Nasal Cannula โดยใช้งบประมาณจากการบริจาคของมูลนิธิแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิตจำนวน 502 เครื่อง เพื่อส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลที่ขาดแคลน ที่ผู้ป่วยมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุนในการส่งมอบให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ นั้น
ผลงาน “นวัตกรรมเครื่องบำบัดโรคระบาดทางเดินหายใจอัตราการไหลสูงในภาวะฉุกเฉินการระบาด COVID-19 ใน พ.ศ. 2564” ความร่วมมือระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภากาชาดไทย ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 สาขาบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ “ระดับดี” โดยมี รศ.นพ.ทายาท ดีสุดจิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหัวหน้าโครงการ
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 รศ.ภก.ดร.วันชัย ตรียะประเสริฐ ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านกิจการพิเศษ และ รศ.นพ.ทายาท ดีสุดจิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ารับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 สาขาบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ “ระดับดี” จากนายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ณ ห้อง Grand Diamond Ballroom ชั้น 2 อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี.
ผลงาน “นวัตกรรมเครื่องบำบัดโรคระบาดทางเดินหายใจอัตราการไหลสูงในภาวะฉุกเฉินการระบาด COVID-19 ใน พ.ศ. 2564” สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โดย ฝ่ายประกันคุณภาพ และฝ่ายสนับสนุนอาคารและเครื่องจักรกล ได้มีส่วนร่วมในการประกอบเครื่องและตรวจสอบคุณภาพของเครื่องบำบัดโรคระบาดทางเดินหายใจอัตราการไหลสูงก่อนส่งต่อให้บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นำส่งเครื่องให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ รวมจำนวนทั้งสิ้น 502 เครื่อง