...

ประกาศ/คำสั่ง/ข้อบังคับ

สถานเสาวภา สภากาชาดไทย รณรงค์การฉีดวัคซีน ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น

สถานเสาวภา สภากาชาดไทย รณรงค์การฉีดวัคซีนในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น ให้ความรู้และสร้างความตระหนักแก่กลุ่มวัยรุ่น ผู้ใหญ่ตอนต้น และผู้ปกครอง เพื่อลดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคร้ายที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน

เนื่องในวาระครบ 100 ปี แห่งการสถาปนาสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ดำเนินโครงการรณรงค์ การฉีดวัคซีนในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น ครั้งที่ 2 ในวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2565 เวลา 11.00-19.00 น. ณ ลานด้านหน้าร้าน Muji ชั้น G สามย่านมิตรทาวน์ พิธีเปิดโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.นายสัตวแพทย์ณรงค์ศักดิ์ ชัยบุตร รองผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ฝ่ายวิชาการ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ฝ่ายวิชาการ

ภายในงานมีกิจกรรมการแสดงบนเวทีในชื่อชุดการแสดง “NBR Hypnotize” จากโรงเรียนนวมินทราชูทิศ เบญจมราชาลัย กิจกรรมให้ความรู้ผ่านบอร์ดนิทรรศการวัคซีนที่แนะนำ เช่น วัคซีนป้องกัน มะเร็งปากมดลูก วัคซีนไข้เลือดออก เป็นต้น มีกิจกรรมเล่นเกมส์ จับของรางวัล และการเสวนาเรื่อง “ไข้เลือดออก มะเร็งปากมดลูก และ ไอกรน – 3 โรคอันตรายในวัยรุ่นที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน” โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

หลายคนเข้าใจว่าการฉีดวัคซีนมีเฉพาะในเด็กเล็ก แต่ในความเป็นจริงช่วงวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้น ก็เป็นช่วงวัยสำคัญในการเข้ารับวัคซีนเช่นกัน เนื่องจาก

1.ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนที่เคยได้รับตอนเด็กลดลงไปตามเวลา อันอาจนำไปสู่การติดเชื้อ จึงจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

2.วัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้นที่ไม่เคยฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนไม่ครบ ก็สามารถใช้โอกาสนี้รับวัคซีนเพิ่มเติม

3.โรคติดเชื้อบางชนิดมีอุบัติการณ์การติดเชื้อเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เช่น การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี จากการมีเพศสัมพันธ์

4.ปัจจุบันมีวัคซีนชนิดใหม่ที่ใช้ในการป้องกันโรคติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากในอดีต เช่น วัคซีนป้องกันเอชพีวี วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

ในที่นี้จะขอแนะนำวัคซีนสำคัญสำหรับวัยรุ่น ดังนี้

  • 1.วัคซีนป้องกันบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน (Tetanus-diphtheria-pertussis, Tdap) หรือวัคซีนป้องกันบาดทะยัก-คอตีบ (Tetanus-diphtheria, Td)
  • วัคซีนโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนเป็นวัคซีนที่เด็กๆ จะได้รับตั้งแต่อายุ 2 เดือนจนถึง 6 ปี มาแล้ว 5 เข็ม แต่เมื่อเวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันที่ได้มีค่าลดลง จึงแนะนำให้เด็กวัยรุ่นอายุ 11-12 ปี ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน 1 ครั้ง และฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนป้องกัน บาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน (Tdap) หรือ วัคซีนป้องกันบาดทะยัก-คอตีบ Td ต่อในทุกๆ 10 ปี
  • 2.วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (Measles – Mumps – Rubella Vaccine, MMR)
  • โรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ง่าย ปัจจุบันวัคซีนนี้อยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กของกระทรวงสาธารณสุข ในวัยรุ่นที่ไม่เคยได้รับวัคซีนควรได้รับการฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ แต่หากเคยได้รับมาแล้ว 1 เข็มควรฉีดเพิ่มอีก 1 เข็ม
  • 3.วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella vaccine)
  • โรคอีสุกอีใสสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมักมีอาการรุนแรงในวัยรุ่นผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสในเด็ก ที่อายุมากกว่า 13 ปีและผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค โดยฉีดทั้งหมด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน (วัคซีนนี้เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี โดยในเด็กอายุน้อยกว่า 13 ปี จะฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน) สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคนี้แล้วไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นอีกเพราะจะมีภูมิคุ้มกันโรค ได้ตลอดชีวิต
  • 4.วัคซีนเอชพีวี (Human papillomavirus vaccine, HPV)
  • โรคติดเชื้อเอชพีวีเกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมา (Human papillomavirus, HPV) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก มะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย รวมถึงมะเร็งบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก มะเร็งในช่องปากและคอหอย หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุกที่ผิวหนังหรืออวัยวะเพศ เชื้อเอชพีวีติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นเพื่อให้การฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูงที่สุด จึงแนะนำให้ฉีดในหญิงและชายอายุ 9-26 ปี ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ โดยจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ที่ระยะเวลา 0,1-2 เดือน และ 6 เดือน หากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี สามารถฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน
  • 5.วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
  • แนะนำให้ฉีดแก่ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6-45 ปี ซึ่งเคยติดเชื้อไวรัสเดงกีมาก่อน โดยวัคซีนมีประสิทธิภาพ ในการป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรงและลดอัตราเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังจำนวน 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 6 เดือน

คลินิกเสริมภูมิคุ้มกันและอายุรศาสตรการท่องเที่ยว สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เปิดทำการ : วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-12.00 น. และเวลา 13.00-16.00 น.

  • วันเสาร์และ วันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-12.00 น.
  • วันอาทิตย์ ปิดทำการ
  • เบอร์โทรศัพท์ 0 2252 0161-4, 0 2252 0167 ต่อ 132