...

ประวัติสถานเสาวภา

ประวัติสถานเสาวภา


       เมื่อปี พ.ศ. 2454 หม่อมเจ้าหญิงบรรลุศิริสาร ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถูกสุนัขบ้ากัด ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งไปรักษา ณ เมืองไซ่ง่อน แต่ไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์เนื่องจากเรือได้ออกเดินทางไปแล้ว จึงรักษาแบบแผนโบราณ จนถึงชีพิตักษัย สมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดตั้งสถานที่ทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำขึ้นในประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นถึงความสำคัญ จึงจัดตั้งสถานที่ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อาศัยตึกหลวงที่ถนนบำรุงเมืองเป็นสถานที่ทำการชั่วคราว พร้อมกับ โปรดเกล้าฯให้ย้ายกิจการทำพันธุ์หนองฝีและทำวัคซีนอื่นที่อยู่ทางจังหวัดนครปฐม มาดำเนินการอยู่ด้วยกันในสถานที่ดังกล่าวโดยขนานนามสถานที่นั้นว่า“ปาสตุระสภา” เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2456 อยู่ในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย และมีดร.เลโอโปลด์ โรแบรต์ ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้อำนวยการ ทั้งนี้ด้วยความช่วยเหลือสนับสนุนจากสถานปาสเตอร์แห่งประเทศฝรั่งเศส จวบจนเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “ปาสตุระสภา” เป็น “สถานปาสเตอร์” ตามชื่อของหลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) ชาวฝรั่งเศส ผู้แรกพบวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้โอนกิจการสถานปาสเตอร์ให้สภากาชาดไทยเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด โดยอาศัยสถานที่เดิมเป็นที่ทำการต่อไปชั่วคราว

      
       เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2463 ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จ พระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนึงถึงพระคุณูปการของสมเด็จพระราชชนนี ได้ทรงปรารถนาใคร่จะสร้างสิ่งซึ่งเป็นสาธารณะประโยชน์ อันยั่งยืนอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้เป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศสมเด็จพระราชชนนีเคียงคู่กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อันเป็นสถานที่เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกาธิราชอยู่ก่อนแล้ว จึงทรงอุทิศที่ดิน ตรงบริเวณมุมถนนสนามม้าตัดกับถนนพระราม 4 จังหวัดพระนครซึ่งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีจำนวนเนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 71 ตารางวา พร้อมกับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อีกจำนวน 258,000 บาท มอบให้สภากาชาดไทยนำไปใช้อำนวยการสร้างอาคารใหญ่ขึ้นหลังหนึ่งบนที่ดินดังกล่าว เพื่อใช้เป็นที่ทำการ แห่งใหม่ของ สถานปาสเตอร์ และเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลจากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละออง ธุลีพระบาทได้เงินอีกจำนวนหนึ่ง เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องตกแต่งอาคารและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสถานที่แห่งใหม่นี้ว่า “สถานเสาวภา” และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2465 กิจการทั้งหมดของกองวิทยาศาสตร์ที่สถานปาสเตอร์ ถนนบำรุงเมือง จึงได้ย้ายมาดำเนินการอย่างถาวรจนถึงปัจจุบัน

       สถานเสาวภามุ่งมั่นที่จะสนองพระปณิธาน “เพื่อปิตุภูมิ เพื่อวิทยา เพื่อมนุษย์ชาติ” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงสถาปนาสถาบันนี้